Hot Topic!

สคร.แจง 6 ประเด็น แปรรูปรัฐวิสาหกิจ

โดย ACT โพสเมื่อ Sep 05,2017

 - - สำนักข่าวโพสต์ทูเดย์ - -

 

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติการกำกับดูแลและ บริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. . แต่ก็มีกระแสโซเชียลวิจารณ์หนักเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ และระบุว่า คสช.เตรียมออกกฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจอำพราง แบบยกเข่งโดยผ่านสภาเสียงข้างเดียว กินรวบหนักกว่ายุคทักษิณนั้น

 

          สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ออกแถลงการณ์แจง 6 ประเด็น ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การพัฒนารัฐวิสาหกิจ

 

          1.กรณี สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจ โดยนำรัฐวิสาหกิจ 11 แห่ง ที่มีสภาพเป็นบริษัท ให้กับบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ (บรรษัทฯ) เป็นผู้ครอบครองแทน และในอนาคตเมื่อบรรษัทฯ ต้องการเพิ่มทุนในรัฐวิสาหกิจใด แต่รัฐไม่สามารถเพิ่มทุนหรือไม่ต้องการเพิ่มทุน ก็จะเปิดให้เอกชนมาถือหุ้นแทน คือกระบวนการแปรรูปอำพราง

          สคร.ขอชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่มีวัตถุประสงค์หลักในการปฏิรูปและยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจผ่าน การส่งเสริมให้มีระบบธรรมาภิบาลที่ดี โปร่งใส และนำมาตรการระดับสากลมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจ และได้มีการกำหนดไว้ในกฎหมายชัดเจนว่า "ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบรรษัทฯ และหุ้นทุกหุ้นของบรรษัท โอนเปลี่ยนมือมิได้"

 

          2.หุ้นของรัฐในรัฐวิสาหกิจจะถูกลดสัดส่วนลงไปเรื่อยๆ จนอาจหมดสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยที่ประชาชนไม่มีโอกาสรับรู้

          สคร.ขอชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจ กำหนดให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบรรษัทฯ ประกอบกับมาตรา 89 กำหนดให้เมื่อกระทรวงการคลังได้โอนหุ้นในรัฐวิสาหกิจให้แก่บรรษัทฯ แล้ว ให้มติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังในรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดใดใช้บังคับกับบรรษัทฯ ในการถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจ นั้นด้วย

 

          3.การนำบริษัทรัฐวิสาหกิจ 11 แห่ง ที่มีทรัพย์สินรวมกันมูลค่ามหาศาล 6 ล้านล้านบาท ซึ่งมีทั้งทรัพย์สินที่ เป็นสาธารณสมบัติ รวมทั้งอำนาจและสิทธิมหาชน เตรียมเปิดขายเหมาเข่ง เป็นกระบวนการผ่องถ่ายทรัพย์สิน ของรัฐให้เอกชนใช่หรือไม่

          สคร.ขอชี้แจงว่า บรรษัทฯ เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด โดยทำหน้าที่ควบคุมการใช้จ่ายและการลงทุนของบรรษัทฯ รวมถึงประเมินผลการทำหน้าที่ของ บรรษัทฯ คู่ขนานไปกับ คนร. ที่จะกำกับการดำเนินการของบรรษัทฯ ให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้มีความพร้อมในการแข่งขันเชิงพาณิชย์ และสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยยังคงความเป็นรัฐวิสาหกิจไว้

 

          4.การจัดตั้งบรรษัทฯ และการรวบเอากรรมสิทธิ์ในหุ้นรัฐวิสาหกิจไปรวมศูนย์ไว้ในมือของบรรษัทฯ นั้น นอกจากมิได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศ และไม่สามารถพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจให้ดีขึ้นแต่อย่างใดแล้ว บรรษัทฯ ยังสามารถจะใช้ทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือในการทำธุรกรรมซื้อขายแลกเปลี่ยนกับนักธุรกิจในประเทศและในต่างประเทศได้

          สคร.ขอชี้แจงว่า การจัดตั้งบรรษัทฯ ขึ้นตามร่าง พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจนี้ เป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนารัฐวิสาหกิจ โดยสร้างความชัดเจนในหน้าที่ของผู้ถือหุ้นของรัฐวิสาหกิจจากเดิมที่มีหน้าที่ ทับซ้อนกันของหลายหน่วยงาน และกำหนดให้บรรษัทฯ ทำหน้าที่เป็นผู้ถือหุ้นเชิงรุก ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 44 แห่งร่าง พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจ ที่กำหนดให้จัดตั้งบรรษัทฯ ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ "เพื่อถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจในกำกับของ บรรษัทฯ และกำกับดูแลการประกอบกิจการของรัฐวิสาหกิจในฐานะผู้ถือหุ้น ให้เกิดผลตอบแทนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ" ดังนั้นการนำรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทที่มีทุนเรือนหุ้นที่ชัดเจน มาอยู่ภายใต้บรรษัทฯ ที่เป็นหน่วยงานของรัฐมีกระทรวงการคลังถือหุ้น 100% จะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นจากการมีมาตรฐานการกำกับดูแลเดียวกัน โปร่งใส และรับผิดรับชอบตามหลัก ธรรมาภิบาลที่ดี

 

          5.การดำเนินการต่างๆ จำเป็นต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบครบถ้วนโดยรัฐสภาเสียก่อน มิใช่ปล่อยให้ สนช.ซึ่งเป็นสภาเสียงข้างเดียวที่แต่งตั้งมาโดยรัฐบาล คสช. มาตัดสินใจแทนคนไทยทั้งประเทศ

          สคร.ขอชี้แจงว่า ในการยกร่าง พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจ ได้มีการจัด ให้มีการรับฟังความคิดเห็นที่ครบถ้วน ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ สนช.ได้จัดตั้ง กรรมาธิการฯ เพื่อนำร่างกฎหมายมาพิจารณาให้รอบคอบด้วยอีกชั้นหนึ่ง โดยได้มีประธานสหพันธ์แรงงาน รัฐวิสาหกิจฯ (สพร.ท.) เข้าร่วมเป็น กรรมาธิการฯ ด้วย

 

          6.บรรษัทฯ ที่ตั้งไม่ขึ้นอยู่กับสภา พัฒน์ ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงาน สัมพันธ์ และ พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงบรรษัทฯ สามารถเลือกองค์กรที่จะเข้ามาตรวจสอบบัญชีได้ จึงไม่แน่ใจว่ากฎหมายที่จะป้องกันทุจริต มีอำนาจตรวจสอบหรือไม่

          สคร.ขอชี้แจงว่า ในร่าง พ.ร.บ.มาตรา 51 ได้กำหนดชัดเจนว่า "ให้รัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังได้โอนหุ้นให้แก่บรรษัทฯ ตาม พ.ร.บ.นี้เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และให้นำกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ มาใช้กับพนักงานรัฐวิสาหกิจ นอกจากนั้น ในการกำหนดยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ คนร.จะเป็นผู้กำกับให้บรรษัทฯ เสนอกรอบนโยบายการพัฒนาและทิศทางการลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติ

 

 

 

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน


Follow LINE: http://bit.ly/2vDtGHV
Follow Facebook: http://bit.ly/2x3oArO